วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องแมว...แมว...

                   เปิดหัวข้อแรกของบล๊อก  ขอเอาใจตัวเอง และคนรักแมวทั้งหลายซะหน่อย เริ่มกันที่เรื่องแมว..แมว...ดีกว่า  อันดับแรก เรามารู้จักกับแมวประจำชาติของเราก่อนเลย..นั่นคือแมวไทย 
                       แน่นอนว่า แมวไทย  ก็ต้องเป็นแมวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ซึ่ง แมวไทยจัดเป็นแมวพันธุ์แท้ที่สืบเชื้อสายมาจากแมวโบราณ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแมวขนสั้นที่สวยสง่าที่สุดในโลก  เพราะแมวไทยมีรูปร่างที่สมส่วน ศีรษะไม่กลมหรือแหลมจนเกินไปหน้าผากกว้าง จมูกสั้น หูตั้ง ลำตัวเพรียวบาง รูปร่างขนาดปานกลาง ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัวหางยาว โคนหางใหญ่ปลายหางเรียวแหลมชี้ตรง  มีขนที่อ่อนนุ่ม รวมถึงจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือสีสันที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความฉลาด รักบ้านรักเจ้าของรู้จักประจบ 
                       ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า แมวไทย นั้นมีต้นกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือมีทั้งสิ้นกี่สายพันธุ์ แต่ตามสมุดข่อยโบราณระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า แมวไทยในสมัยอยุธยานั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น
แมวให้คุณ 17 สายพันธุ์  ดังนี้ วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ มาเลศ โกนจา นิลรัตน์ วิลาศ เก้าแต้ม รัตนกำพล นิลจักร มุลิลา กรอบแว่น ปัดเสวตร กระจอก สิงหเสพย์ การเวก จตุบท และแซมเศวตร 




แมวให้โทษ  6 สายพันธ์ ดังนี้ ทุพลเพศ พรรณพยัคฆ์ ปีศาจ หิณโทษ กอบเพลิง และเหน็บเสนียด


                              ซึ่งสาเหตุที่มีการแบ่งแมวไทยออกเป็นแมวให้คุณกับแมวให้โทษนั้น เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณโดยดูจากบุคลิกลักษณะของแมวแต่ละสายพันธุ์ ว่าเลี้ยงแล้วจะนำสิ่งที่ดี ๆ หรือสิ่งชั่วร้ายมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ
                            และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระองค์ได้ทรงพระราชทานแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศคู่หนึ่งให้กับกงสุลอังกฤษ ซึ่งกงสุลอังกฤษคนนั้นได้นำแมวไทยไปประกวดที่ประเทศอังกฤษโดยผลปรากฏว่าแมวไทยชนะเลิศในประเภทแมวขนสั้น ส่งผลให้แมวไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งนี้ในสมัยนั้นแมวไทยจะเลี้ยงอยู่ในวังเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์วิเชียรมาศ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิ์ในการเลี้ยงแมวไทย และห้ามไม่ให้ซื้อขายแมวไทยกันด้วย
                           กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิมที่มีทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์ ทุกวันนี้แมวไทยเหลือเพียง 6 สายพันธุ์เท่านั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแมวไทยในวังเริ่มลดจำนวนลง แมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในวัด หรือตามบ้านเรือนประชาชน ขาดการควบคุมดูแลอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้แมวไทยไปผสมกันเองตามธรรมชาติจนเกิดการข้ามสายพันธุ์ ในยุคหลัง ๆ แมวไทยเดิมพันธุ์แท้เริ่มหายากเข้าไปทุกที จนสุดท้ายเริ่มหมดไปเรื่อย ๆ เหลืออยู่เพียง 6สายพันธุ์ 
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแมวให้คุณทั้งสิ้น ดังนี้
วิเชียรมาศ  เมื่อแรกเกิดจะมีขนสีขาวทั้งหมด พอโตขึ้นขนจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน ๆ แต่ที่ปาก หาง เท้าทั้งสี หูทั้งสองข้าง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่งแห่ง รวมทั้งสิ้นเก้าแห่งมีสีดำหรือสีเข้มกว่าส่วนอื่น ๆ  มีนัยน์ตาประกายสดใส ใครเลี้ยงไว้มีคุณค่ายิ่งจะนำทรัพย์สมบัติมาให้
ศุภลักษณ์  หรือมีอีกชื่อว่า “ทองแดง” จะมีสีขนเป็นสีทองแดงตลอดทั้งตัว นัยน์ตาเป็นประกาย ใครเลี้ยงไว้จะนำมาซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์
แซมเสวตร  มีขนสีดำแซมขาว ขนบางและสั้น รูปร่างเพรียว มีในตาเหมือนหิ่งห้อย ใครเลี้ยงไว้ดี มีคุณหนักหมา
โกนจา  จะมีสีดำละเอียด ในตาสีดอกบัวแรกแย้ม หางเรียวยาว ท่าทางการเดินสง่าเหมือนสิงโต ใครที่เลี้ยงแมวพันธุ์นี้ไว้จะได้รับแต่สิ่งที่ดี ๆ
สีสวาด หรือ มาเลศ หรือ แมวโคราช  มีขนสีดอกเลาเปรียบเสมือนกับเมฆสีเทายามฟ้ายับฝน มีนัยน์ตาหยาดเยิ้มประหนึ่งน้ำค้างบนกลีบบัว เป็นแมวที่เชื่อกันว่านำมาซึ่งความสุข ความเป็นมงคลให้กับผู้เลี้ยง
ขาวมณี  แมวไทยอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ไม่ได้มีระบุไว้ในสมุดข่อยโบราณ แต่ก็ถูกจัดว่าเป็นแมวไทยด้วยเช่นกัน เป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน เชื่อกันว่าเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ มีสีขนและผิวกายขาวสะอาด ขนสั้นนุ่ม รูปร่างลำตัวยาว ขาเรียว ทรงเพรียวลม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หัวไม่กลมโต แต่เป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายหัวใจ ดวงตาจะรีเล็กน้อย ในตาเป็นสีฟ้าหรือเหลืองอำพันสีใดสีหนึ่ง เมื่อนำแมวขาวมณีตาสีฟ้า ผสมกับแมวขาวมณีตาสีอำพัน ลูกที่ออกมาจะมีตาสองสี
              
ที่มา  :  Pet Mania


                  สำหรับแมวที่ผู้เขียนเลี้ยงไว้ในชีวิตเคยมีพันธุ์ไทยแท้กับเขาแค่ตัวเดียว คือพันธุ์ศุภลักษณ์ หรือ "ทองแดง" ที่เหลือเป็นพันธุ์ผสม หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า "พันแข้ง พันขา" นั่นเอง ฮ่าๆๆๆๆ แถมท้ายด้วยรูป บรรดาลูกๆที่แสนจะวุ่นวายของผู้เขียนเอง 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น